การละเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้าน และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว เป็นสาขาหนึ่งของมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมของไทย ซึ่งหมายถึงกิจกรรมทางกายและการออกแรง กระทำไปเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน เพื่อชัยชนะ หรือเพื่อการป้องกันตัว มีรูปแบบวิธีการเล่นตามลักษณะเฉพาะในแต่ละท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์สะท้อนวิถีชีวิต หรืออาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กีฬาภูมิปัญญาไทย การเล่นบางอย่างนั้นกรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ขึ้นเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมไว้แล้ว ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักฐานสำคัญของชาติ และยังเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนให้เกิดความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตน ร่วมทั้งเป็นการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การสร้างความรู้ ความเข้าใจ เห็นคุณค่า ยอมรับในความหลากหลายทางวัฒนธรรม และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของคนในสังคม
ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่นี่
การละเล่น ตีนเลียน คืออะไร
ตีนเลียน เป็นการละเล่นของเด็กภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยตีนเลียนนั้นเป็นล้อเลื่อน เป็นการเล่นที่ใช้วัสดุบ้านพื้นที่หาได้ทั่วไปมาประดิษฐ์ นิยมเล่นในประเพณีสงกรานต์ และในการประเพณีอื่น ๆ แม้จะสนุกแต่ก็เป็นการละเล่นที่ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ อุปกรณ์ที่ใช้คือ ตีนเลียนทำด้วยไม้กระดานตัดเป็นรูปวงกลมรัศมี 8-12 นิ้ว เจาะรูตรงกลาง จากนั้นใช้ไม้ไผ่ยาวประมาณ 2 เมตร ผ่าครึ่งปลายด้านหนึ่งยาวประมาณ 12 นิ้ว เพื่อประกบกับรูกลางกระดานกลม โดยใช้ตะปูหรือไม้ที่แข็งสอดเป็นเพลาไว้ให้แน่น กระดานกลมจะทำหน้าที่เป็นล้อกระดาน อีกด้านของไม้ยาวเป็นขาดันล้อให้กลิ้งไปบนพื้น การแข่งขันจะมีการขีดเส้นเริ่มและเส้นชัย ระยะทางประมาณ 20-30 เมตร มีผู้เล่นได้ไม่จำกัดจำนวน
วิธีการเล่นเริ่มต้นโดยผู้เล่นแต่ละคนจับตีนเลียน โดยให้ปลายไม้วางพลาดไว้ที่บ่า ส่วนล้อวางไว้ที่พื้น เตรียมพร้อมที่จะกลิ้งล้อ จากนั้นให้ผู้เล่นดันตีนเลียนให้ล้อกลิ้งไปกับพื้น ผู้เล่นสามารถเดินหรือวิ่งตามพื้นได้อย่างอิสระของแต่ละคน อาจมีการแลกเปลี่ยนตีนเลียนผลัดกันเล่นตามแต่จะตกลงกันหรืออาจเล่นแข่งกัน โดยให้ผู้เล่นยืนเรียงเป็นแถวหน้ากระดานอยู่หลังเส้นเริ่มคล้าย ๆ การวิ่งแข่งกัน ควรเว้นระยะห่างระหว่างคนให้พอประมาณ เมื่อได้สัญญาณเริ่มเล่นให้ผู้เล่นดันตีนเลียนไปยังเส้นชัยใครถึงเส้นชัยก่อนจะถือว่าเป็นผู้ชนะ
การเล่นชนิดนี้จะทำให้ผู้เล่นได้ออกกำลังกายพัฒนากล้ามเนื้อแขน ขา ลำตัว ได้ฝึกความสัมพันธ์ของประสาทระหว่างแขน ขา และตา การควบคุมการเคลื่อนไหวขณะดันล้อ ฝึกความเร็ว ความแข็งแรงของขาและ แขน การควบคุมตีนเลียนให้ไปในทิศทางที่ต้องการ และฝึกความแม่นยำ ฝึกการใช้ความคิด ปฏิภาณไหวพริบในขณะเล่น และที่สำคัญยังฝึกการควบคุมอารมณ์ และการยอมรับความสามารถของผู้อื่นอีกด้วย
ติดตามอ่านเรื่องราวซอกแซกอื่น ๆ ที่ทางทีมงานได้ไปเสาะหาเพื่อนำมาเล่าให้ทุกคนได้อ่านอื่นเพิ่มเติมได้ที่ ซอกแซก.com