อ่านจากชื่อเรื่อง “ประเพณีผีตาโขน” เชื่อว่าหลายคนคงเข้าใจผิดว่าบทความนี้ต้องมาเล่าเรื่องผีที่ชวนขนลุก และสยองขวัญอย่างแน่นอนเลยใช่ไหมค่ะ แต่ไม่เลยค่ะคำว่าผีตาโขนนั้นอาจจะฟังดูน่ากลัวเพราะมีคำว่า ผี แท้จริงแล้วผีตาโขนนั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดเลย แถมยังมีมนต์เสน่ห์น่าหลงใหล บอกได้เลยว่าวินาทีนี้ใครที่ไม่รู้จักผีตาโขนถือว่าเชยมาก เพราะช่วงเดือนเมษายน ปี 2563 ผีตาโขนนั้นถูกนำมาสร้างเป็นตัวละครในเกมยอดฮิตอันดับต้น ๆ ของเมืองไทยมาแล้วอย่าง Garena RoV Thailand โดยมีชื่อว่า “ผีตาโขน ฮายาเตะ (The Phantom Mask Hayate)” แล้วผีตาโขนคืออะไร มาจากไหน ทำไมถึงนำมาสร้างเป็นตัวละครในเกมได้ วันนี้เราจะพาทุกคนเดินทางไปทำความรู้จักกับ “ประเพณีผีตาโขน”
ประเพณีผีตาโขนจัดขึ้นที่ไหน
ประเพณีผีตาโขนเป็นประเพณีของชาวอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ซึ่งอำเภอด่านซ้ายห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 80 กิโลเมตร ลักษณะของเส้นทางเป็นทางชันขึ้นภูเขา และมีถนนโค้งที่คดเคี้ยวพอสมควร ดังนั้น การเดินทางต้องอาศัยความชำนาญ และระมัดระวังเป็นพิเศษ เมื่อเราทราบแล้วว่าผีตาโขนนั้นมาจากที่ใด ต่อไปเราจะมาทำความรู้จักว่าผีตาโขนคืออะไร และมีประวัติความเป็นมาอย่างไร
ประวัติความเป็นมาของประเพณีผีตาโขน
ประเพณีผีตาโขนมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “งานบุญหลวง” หรือ “บุญผะเหวด” จัดเป็นประเพณีที่ใหญ่ที่สุดของอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย โดยผีตาโขนนั้นมีประวัติดั้งเดิมที่เล่าขานต่อกันมาว่า พระเวสสันดรและนางมัทรี เสร็จไปประทับ ณ ป่าแห่งหนึ่ง ทำให้เหล่าสิงสาราสัตว์
รวมไปถึงภูตผีปีศาจนั้นเกิดความศรัทธา เลื่อมใส ครั้นเมื่อจะเสด็จกลับเข้าเมืองทำให้เหล่าสิงสาราสัตว์ และภูตผีปีศาจอาลัยรัก จึงแห่ติดตามพระเวสสันดรและนางมัทรีกลับมายังเมือง
จึงเรียกว่า “ผีตามคน” หลังจากนั้นจึงมีการออกเสียงที่คลาดเคลื่อนไปจนกลายเป็น “ผีตาโขน”
ในปัจจุบัน
ในเวลาต่อมาชาวบ้านมีความเชื่อและเกิดความศรัทธาจึงได้ร่วมกันสร้างประเพณีแห่ผีตาโขนขึ้นมา เพื่อบูชาพระธาตุศรีสองรักษ์ที่เป็นสิ่งศักดิ์คู่บ้านคู่เมือง รวมไปถึงบูชาพระเวสสันดร และนางมัทรี โดยเริ่มมีการประดิษฐ์หน้ากากผีตาโขนขึ้นมา เพื่อทดแทนว่าเป็นผีที่ตามพระเวสสันดรและนางมัทรีเข้าเมือง หน้ากากนั้นทำมาจากไม้ นิยมใช้ทางมะพร้าวบริเวณโคนที่มีขนาดใหญ่มาทำเป็นตัวหน้ากากสวมใส่ปิดบังหน้า และนำหวดนึ่งข้าวมาทำเป็นส่วนหัว ทำการวาดลวดลายแต่งเติมสีสันเป็นรูปต่าง ๆ เช่น หน้ายักษ์ หน้าเสือ ภูตผี เป็นต้น ซึ่งประเพณีแห่ผีตาโขนจะจัดขึ้นในเดือน 7 คือ ช่วงเดือนมิถุนายนจะจัดขึ้นทั้งหมด 3 วัน มีขบวนแห่ที่ยิ่งใหญ่อลังการ เช่น มีการฟ้อนรำถวาย การแสดงที่แสดงถึงวิถีชีวิต มีการแต่งตัวผีตาโขน สัตว์ป่า สัตว์ประหลาดร่วมเดินขบวน โดยในปัจจุบันประเพณีแห่ผีตาโขนกลายเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดเลย
ติดตามอ่านเรื่องราวซอกแซกอื่น ๆ ที่ทางทีมงานได้ไปเสาะหาเพื่อนำมาเล่าให้ทุกคนได้อ่านอื่นเพิ่มเติมได้ที่ ซอกแซก.com