ซูตองเป้ เป็นสะพานไม้ไผ่ที่มีความสวยงามสุดคลาสสิคที่ยาวที่สุดในโลก มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ถูกสร้างขึ้นพาดผ่านทุ่งนาที่เปลี่ยนสีไปตามฤดูกาลของนาข้าว ตั้งอยู่ท่ามกลางบรรยากาศของธรรมชาติ รายล้อมด้วยภูเขาสวยและหมอกจาง ๆ เข้ากับแสงในยามเช้าเป็นอย่างยิ่ง ด้วยองค์ประกอบเหล่านี้ จึงทำให้ที่นี่เป็นอีกสถานที่เที่ยวแม่ฮ่องสอนอันดับต้น ๆ ที่หลายคนต้องมาให้ได้สักครั้งในชีวิต
ทั้งนี้ที่สะพานซูตองเป้ เราจะมีโอกาสได้มาสัมผัสวัฒนธรรมและประเพณีอันงดงามแปลกตาได้ที่นี่ที่เดียวเท่านั้น รับรองว่าทุกคนจะได้รับความอิ่มเอมและได้เติมพลังในวันพักผ่อนได้อย่างเต็มที่แน่นอน วันนี้ ซอกแซก.com จะพาทุกคนไปทำความรู้จักถึงความเป็นมาของสะพานไม้ไผ่ทรงเสน่ห์ที่แฝงไปด้วยศรัทธากันให้มากขึ้น พร้อมแล้วตามไปดูเลยยย
ชวนไปเที่ยวชมสะพานซูตองเป้ ท่ามกลางวิวทุ่งนา ความสวยงามที่เปลี่ยนผันตามฤดู
ซูตองเป้ เป็นสะพานไม้ไผ่กว้าง 2 เมตร มีความยาวกว่า 500 เมตร ถูกจัดให้เป็นสะพานไม้ไผ่ที่มีความยาวมากที่สุดในไทย ชื่อ “ซูตองเป้” นั้นเป็นคำในภาษาไทใหญ่ที่แปลว่า อธิษฐานสำเร็จ หรือจะแปลว่า ความสำเร็จ ก็ได้เช่นกัน ตามความเชื่อของชาวบ้านที่บอกไว้ว่า หากใครได้ไปยืนอยู่กลางสะพานแล้วเอ่ยคำอธิษฐานขอพรถึงความสำเร็จใด ๆ ก็จะสามารถพบเจอกับความสำเร็จและสมหวังได้นั่นเอง
สะพานไม้ไผ่ซูตองเป้มีความเป็นมาที่น่าเลื่อมใสศรัทธาอยู่มาก เกิดจากการลงแรงร่วมใจกันของพระสงฆ์และชาวบ้านในหมู่บ้านกุงไม่สักช่วยกันสานพื้นสะพานไม้ไผ่แห่งนี้ สร้างเป็นทางเชื่อมต่อหมู่บ้านกุงไม้สักกับสวนธรรมภูสมะพาดผ่านผืนนาที่เจ้าของอุทิศถวายเพื่อเป็นกุศลและเป็นอีกหนึ่งเส้นทางสัญจรที่คอยอำนวยความสะดวกในให้แก่พระสงฆ์และชาวบ้านในหมู่บ้านนั่นเอง
นอกจากนี้บนสะพานซูตองเป้ เราจะมองเห็นวิวสวยของทุ่งนาสีเขียวขจีได้ในช่วงเดือนกันยายนยาวไปจนถึงกลางเดือนตุลาคมซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน ส่วนในช่วงปลายฤดูฝนเข้าสู่ช่วงต้นฤดูหนาวในเดือนพฤศจิกายนนั้นก็ถึงช่วงที่ข้าวจะออกรวงสีเหลืองทองทอดยาวลามไปทั้งทุ่ง เข้ากันกับบรรยากาศยามเช้าแสงพระอาทิตย์อ่อน ๆ หมอกจาง ๆ กับวัฒนธรรมตักบาตรบนสะพานไม้ไผ่แปลกตา แต่งดงาม รับรองว่าหาไม่ได้จากที่ไหนแน่นอน
เดินทางไปเที่ยว ถ่ายรูป เช็คอินที่สะพานซูตองเป้ สัมผัสวิถีชีวิตของชาวบ้าน
สำหรับใครที่อยากมาสัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่ที่ซูตองเป้ ก็สามารถเดินทางมาได้ที่ หมู่บ้านกุงไม้สัก ตำบลปางหมู อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Facebook Page : ซูตองเป้ ของชุมชนได้เลย