สถาปัตยกรรมวัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหารแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

วัดอรุณ

วันนี้ ซอกแซก.com จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับวัดที่มีความโด่งดังทางด้านสถาปัตยกรรมเป็นอย่างมาก วัดนั้นชื่อว่า วัดอรุณฯ หรือ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหารเป็นอย่างดี ด้วยสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นสง่าทั้งยังเป็นศาสนสถานที่สำคัญ วัดอรุณฯ เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองมายาวนาน จากสถานะวัดราษฎร์ธรรมดาในสมัยอยุธยา ยกระดับกลายเป็นวัดพระอารามหลวงชั้นเอก ตั้งอยู่แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ ติดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมชื่อว่า “วัดมะกอก” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดแจ้ง” ต่อมารัชกาลที่ 2 พระราชทานนามว่า “อรุณราชวราราม” วัดอรุณฯ เป็นแหล่งรวมงานศิลป์ชั้นเอกสมัยต้นรัตนโกสินทร์ มีจุดเด่นที่พระปรางค์สูงประมาณ 81 เมตร ผสมผสานงานสถาปัตยกรรมไทย จีน ประดับไปด้วยกระเบื้องเคลือบจากจีน และวัดแห่งนี้เคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ซึ่งเป็นวัดลำดับต้น ๆ ของประเทศไทย ที่นิยมมาท่องเที่ยวชมความงดงามของสถาปัตยกรรมทั้งชาวไทยและต่างชาติ 

วัดอรุณ

เปิดลักษณะสถาปัตยกรรมของพระปรางค์วัดอรุณฯ

วัดดอรุณฯ เป็นวัดริมน้ำมีสัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมซ่อนไว้มากมาย ในทางศิลปะรูปแบบการสร้างพระปรางค์ได้รับอิทธิพลมาจากเขมร มีการดัดแปลงพัฒนารูปทรงมาเรื่อย ๆ จนถึงขั้นสุด พระปรางค์ใหญ่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สร้างขึ้นตามคติภูมิจักรวาลทางพุทธศาสนาเป็นสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุ พระปรางค์ใหญ่มีฐานกว้างรูปทรงสถาปัตยกรรมเรียกว่า “ทรงจอมแห” บนพระปรางค์ใหญ่ประดับประดาไปด้วยกระเบื้องเคลือบจากจีน ส่วนยอดบนพระปรางค์ติดตั้งยอดนภศูล มีลวดลายรูปปั้นตกแต่งด้วย ยักษ์ เทวดา พญาครุฑ และอื่น ๆ พระปรางค์ใหญ่เป็นพระปรางค์สูงที่สุดของโลก บริเวณรอบพระปรางค์ใหญ่ในวัดอรุณฯนั้น ประกอบไปด้วยพระปรางค์รอง 4 องค์ 4 ทิศ 4 ซุ้ม เป็นสัญลักษณ์แทนเขาสัตตบริภัณฑ์และมณฑปทิศ แทนทวีปทั้ง 4 เหนือยอดพระปรางค์รองมีเทพนมนรสิงห์เพื่อปราบยักษ์ สถาปัตยกรรมภายในพระปรางค์รองทั้ง 4 ทิศ แสดงเหตุการณ์สำคัญในพุทธประวัติ สังเวชนียสถาน 4 แห่ง ได้แก่ ประสูติ ณ ลุมพินีวัน, ตรัสรู้ ณ พุทธคยา, ปฐมเทศนา ณ อิสิปตน, มฤคทายวัน และปรินิพพาน ณ เมืองกุสินารา  สันนิษฐานว่าสถาปัตยกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งต่อเติมขึ้นในรัชกาลที่ 4 และบูรณปฏิสังขรณ์ในรัชกาลที่ 5 มีบันทึกว่าพระพุทธรูปในมณฑปทิศสูญหาย จึงให้อัญเชิญพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ขึ้นประดิษฐานแทน 

วัดอรุณ

นอกจากนี้ยังมีงานศิลป์อีกชิ้นหนึ่งนั่นคือ ยักษ์ 2 ตน ที่ยืนเฝ้าซุ้มประตูทางเข้าพระอุโบสถของวัดอรุณฯ ยักษ์ด้านเหนือกายสีขาวชื่อว่า “สหัสเดชะ” ยักษ์ด้านใต้กายสีเขียวชื่อว่า “ทศกัณฐ์” ทั้งสองตนถูกปั้นด้วยปูน ประดับลวดลายด้วยกระเบื้องเคลือบสี มือทั้งสองกุมกระบองด้วยท่าทีขรึมขลัง ล้วนเป็นงานศิลป์ชั้นเอกที่ทรงคุณค่าในทางพุทธศาสนาและสถาปัตยกรรม  วัดอรุณฯ ไม่ใช่เแค่ศิลปกรรม แต่เป็นศิลปวัฒนธรรมเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตคน โชคลาภ เงินทอง ความเชื่อ ความศรัทธา พระมหากษัตริย์ ล้วนเป็นงานศิลป์ชั้นเอกที่ทรงคุณค่าในทางพุทธศาสนาและสถาปัตยกรรมแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

วัดอรุณ