ศาลขวัญเรียม เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังอีกแห่งหนึ่ง ที่ได้รับความนิยมสำหรับทริปสายมูของชาวเมืองกรุง เพราะไม่จำเป็นต้องเดินทางไกลไปถึงต่างจังหวัด ก็สามารถเข้าไปสักการะขอพรกันได้ ด้วยทำเลที่ตั้งที่อยู่ในกรุงเทพ ทำให้หลายคนมักเลือกแวะเวียนมากราบไหว้กันอยู่บ่อย ๆ หลายคนก็กลับมาแก้บนกับสิ่งที่เคยขอไว้
ตามความเชื่อตามตำนานความรักแห่งคลองแสนแสบ ศาลถูกสร้างไว้เป็นอนุสรณ์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าในอดีต ที่แห่งนี้เคยเป็นจุดเริ่มต้นของความรักที่ไม่สมหวัง ของหนุ่มสาวบางกะปิคู่หนึ่ง กลายเป็นเหตุผลที่หลายคนเชื่อและศรัทธาว่า หากได้มากราบไหว้สักครั้งก็จะช่วยให้ได้พบเจอกับความสมหวังในเรื่องความรัก วันนี้ตาม ซอกแซก.com ไปเจาะลึกถึงความเป็นมาของศาลขวัญเรียม ก่อนกลายมาเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ยอดฮิตไปพร้อมกันเลย
ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่นี่
เปิดตำนานความรัก ที่มาที่ไปของศาลขวัญเรียม ก่อนกลายมาเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่สายมูนิยมมาขอพรวันหยุด
ศาลขวัญเรียม เป็นศาลที่ตั้งโดดเด่นอยู่ รอให้มีผู้คนได้เข้าไปสักการบูชาหมุนเวียนกันไปในแต่ละวัน เพื่อเป็นการเสริมสิริมงคลให้กับตัวเองและคนที่เรารัก เพราะนี่คืออนุสรณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวความรักเต็ม ๆ โดยมีจุดเริ่มต้นที่อ้างอิงตามบทประพันธ์เรื่อง “แผลเก่า” ของผู้เขียน ไม้ เมืองเดิม จนท้ายที่สุดก็นำไปสู่การจัดทำเป็นภาพยนตร์ชื่อดังในปี พ.ศ.2479
เรื่องราวว่าด้วยเรื่องราวความรัก ณ ทุ่งบางกะปิของ “ไอ้ขวัญ” ลูกชายของผู้ใหญ่เนียน พ่อหนุ่มรูปงามที่มีความเป็นนักเลงในตัวสูง และได้ไปตกหลุมรักกับ “เรียม” ลูกสาวศัตรูของผู้เป็นพ่อ จากปัญหาการรุกล้ำที่นาจนเป็นประเด็นให้ต้องบาดหมางกันมา แต่รอยร้าวของความสัมพันธ์ก็ไม่อาจขวางกั้นความรักของทั้งคู่ได้ ทั้งสองยังคงแอบนัดเจอกัน จนเริ่มผูกพันแน่นแฟ้นไปถึงขั้นได้เสียกันด้วยความรักมั่น ที่ต่างคนต่างบอกกันว่าจะรักกันเท่าชีวิตของตน
แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้น ฝ่ายหญิงก็ยังคงไม่มั่นใจในฝ่ายชาย จึงได้พากันไปสาบานต่อหน้าศาลเจ้าพ่อไทร ซึ่งทำให้ฝ่ายชายไม่พอใจเป็นอย่างมาก จึงเอามีดกรีดแขนตัวเอง ให้เลือดที่หยดลงนั้นเป็นเครื่องบูชาความรัก ที่จะช่วยยืนยันความหนักแน่นมั่นคง และสาบานว่าจะซื่อสัตย์ต่อกันตลอดไป เมื่อเวลาผ่านไปกลับไม่ได้เป็นอย่างใจคิด ความรักกลับมีอุปสรรคมากมาย ทำให้เกิดความเข้าใจผิดจนลงเอยด้วยคราบน้ำตา ปิดตำนานรักครั้งนี้ด้วยความตาย ทิ้งเป็นเรื่องราวความทรงจำที่อยู่คู่ท้องน้ำสายนี้
พาทำบุญตามวันเกิดหลังสักการะศาลขวัญเรียม เสริมสิริมงคลให้กับชีวิต ไม่ว่าด้านไหนก็สมหวังได้ไม่ยาก
สำหรับใครที่กำลังวางแผนจัดทริปสายบุญอยู่ แล้วอยากแวะเวียนไปสักการะขอพรที่ศาลขวัญเรียม ให้สมหวังด้านความรัก หรือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในครอบครัว แนะนำให้เตรียมของไหว้มาให้พร้อมทั้งธูป 3 ดอก และเครื่องไหว้ที่นิยมนำมาถวายกันอย่าง น้ำแดง ดอกไม้ ดอกบัว และพวงมาลัย ส่วนตุ๊กตาควายที่เห็นวางเรียงรายกันอยู่จำนวนมาก เป็นของแก้บนจากคนที่เคยมากราบไหว้ขอพรแล้วสมหวังดังปรารถนา นั่นเอง
โดยสามารถเดินทางมาได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งรถยนต์ส่วนตัว หากเข้าทางวัดบำเพ็ญเหนือเริ่มต้นจากถนนเสรีไทย หรือรถสาธารณะอย่างรถประจำทางสาย 27 และ ปอ.502 ส่วนอีกปลายทางวัดบางเพ็งใต้ ให้ใช้เส้นทางถนนรามคำแหง หรือรถประจำทางสาย 113 และ 58 ปอ.113 และ 514
นอกจากนี้ยังสามารถใช้บริการรถไฟฟ้ามหานครสายสีส้มสถานีปลายทางมีนพัฒนาได้ด้วย ทางศาลจะเปิดให้เที่ยวชมเฉพาะวันเสาร์และวันอาทิตย์เวลา 07:00 – 18:00 น. สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 081-357-1545 และยังสามารถติดตามข่าวสารของทางตลาดน้ำได้ผ่านทาง Facebook Page : ตลาดน้ำขวัญ เรียม
แวะมาเช็คอินเที่ยววัดทั้งที จะมาแค่ขอพรเรื่องความรักโดยเฉพาะก็คงจะยังไม่พอ ลองแวะไปทำบุญเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิตกันเสียหน่อย ที่นี่มีให้เลือกทำได้หลายรูปแบบเช่น การปล่อยปลา เชื่อว่าจะช่วยตัดกรรม มั่งมีศรีสุข อายุมั่นขวัญยืน แนะนำให้คนเกิดวันอาทิตย์ปล่อยปลาไหล 9 ตัว วันจันทร์ปล่อยปลาช่อน 15 ตัว วันอังคารปล่อยปลากระดี่นางฟ้า 8 ตัว วันพุธปล่อยปลาดุกและปลากราย 17 ตัว วันพฤหัสบดีให้ปล่อยเต่าและตะพาบ 19 ตัว วันศุกร์ปล่อยปลาหมอ 21 ตัว และวันเสาร์ปล่อยปลาบู่ 10 ตัว
ชมไฮไลท์เด็ดรอบศาลขวัญเรียม เช็คอินสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตในวันพักผ่อนแบบไม่ต้องเดินทางไกล
บริเวณรอบศาลขวัญเรียมเป็นที่เที่ยวกรุงเทพยอดฮิตที่ได้รับความนิยมอยู่ไม่น้อย เพราะตรงจุดนี้มีวัดถึง 2 แห่งด้วยกัน ทั้งวัดบำเพ็ญเหนือ และตรงข้ามเป็นวัดบางเพ็งใต้ โดยมีคลองแสนแสบขวางกั้นอยู่ ผู้คนจึงแวะเวียนมาตักบาตรพระทางเรือกันอยู่เป็นประจำ
นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของตลาดน้ำขวัญเรียม ตลาดน้ำกลางเมืองหลวงที่คาบเกี่ยวอยู่ทั้งสองฝั่งคลอง เชื่อมสัมพันธ์ด้วยสะพานเรือ “สมบุญอุทิศ” ที่สร้างขึ้นอย่างสวยงามและน่าทึ่งมากว่า 100 ปี ไม่เพียงแต่จะได้ลิ้มลองอาหารดั้งเดิมรสชาติแสนอร่อยเท่านั้น แต่ยังมีข้าวของเครื่องใช้ขายกันตามสไตล์วินเทจ ทั้งนี้ยังถือว่าเป็นการท่องเที่ยวที่ได้เรียนรู้วิถีชีวิตของคนท้องถิ่นอีกด้วย